Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย


การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย คือการทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงโดยพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกาบัญญัติให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดตามวาระ อันมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ การยุบสภาเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ทำให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม การยุบสภาเป็นกระบวนการที่ไม่มีในระบบประธานาธิบดี เพราะขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจตามระบบดังกล่าว อันแตกต่างจากระบบรัฐสภาซึ่งเป็นการแบ่งแยกหน้าที่


การยุบสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นกระบวนการที่นำมาใช้แก้ปัญหาทางตันทางการเมือง กล่าวคือ การแก้ปัญหาอาจกระทำได้หลายประการ อาทิ การที่รัฐบาลลาออก การยุบสภา และรัฐประหาร เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า การยุบสภาเป็นมาตรการเกือบสุดท้ายก่อนรัฐประหาร โดยคืนอำนาจให้ประชาชน การคืนอำนาจให้ประชาชนในที่นี้ หมายถึง การให้ประชาชนอันเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ตัดสินโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

อนึ่ง เหตุผลในการยุบสภานั้น หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติไว้ไม่ ดังนี้ จึงเป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น อาทิ เกิดความขัดแย้งรุนแรงในรัฐสภาหรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การใช้เป็นเครื่องมือในการชิงความได้เปรียบทางการเมือง เช่น ขณะที่ตนมีคะแนนนิยมสูงมาก การที่สภาวการณ์ต่าง ๆ สุกงอมพอสมควรที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบอายุสภา เช่น ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนการยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 คือ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากการชุมนุมนอกรัฐสภา จนอาจนำมาซึ่งการจลาจลและความสูญเสียในชีวิตของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น